ในช่วงระยะ 2 ปีแรกของชีวิต นมเป็นแหล่งโภชนาการที่สำคัญที่สุดของทารก ผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารเด็กทารกต่างมีความเห็นตรงกันว่าน้ำนมแม่เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดเสมอ และเป็นที่น่าชื่นใจว่า จำนวนมารดาในประเทศแถบเอเชีย หันมาเลี้ยงลูกด้วยนมตนเองมากขึ้นเรื่อยๆ แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีมารดาที่เพิ่งให้กำเนิดทารกเป็นจำนวนมากทีเดียว ที่ยังเลือกการเลี้ยงลูกด้วยนมผสม ทั้งที่ใช้เป็นนมเสริม และทั้งที่ใช้แทนนมตนเองโดยสิ้นเชิง ดังนั้น เราจึงขอแนะแนวทางตรวจสอบที่สำคัญๆ เพื่อจะได้สร้างความมั่นใจว่านมผสมที่ใช้เลี้ยงทารกนั้น มีคุณค่าทางโภชนาการอย่างเพียงพอ และที่มีความสำคัญพอๆ กัน ก็คือ นมผสมที่เตรียมสำหรับเลี้ยงทารกนั้น จะต้องปลอดภัยและปราศจากการปนเปื้อนของจุลินทรีย์อย่างเช่นบักเตรี นมจากเต้าดีที่สุด... นมแม่เป็นอาหารสำหรับทารกแรกเกิดที่ดีที่สุดเสมอ ข้อนี้มิต้องสงสัยเลย เพราะไม่เพียงแต่จะมีคุณค่าทางโภชนาการอย่างสมดุลย์, ย่อยง่าย, ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย, สะดวก และไม่ต้องเสียเวลาเตรียมแล้ว นมแม่ยังเป็นตัวช่วยป้องกันไม่ให้เด็กเจ็บป่วย หรือติดเชื้อต่างๆ ได้ง่าย และยังอาจเป็นประโยชน์กับร่างกายของเด็กคนนั้น เมื่อเขาเติบโตขึ้นด้วย เช่น ร่างกายจะมีการควบคุมน้ำหนักตัวได้ดี และมีภูมิต้านทานดีกว่าเด็กที่เลี้ยงด้วยนมผสม โดยจะเห็นได้จากการเกิดโรคภูมิแพ้จะมีน้อยกว่า ความจริงแล้ว คนเป็นแม่ทุกคนให้นมลูกได้ทั้งนั้น องค์การอนามัยโลกให้คำแนะนำว่า เด็กทารกควรได้รับนมแม่อย่างเดียวเท่านั้น โดยไม่มีอาหารอื่นๆ เลย เป็นเวลา 6 เดือนหลังจากคลอด จากนั้นจึงเริ่มให้อาหารที่ต้องเคี้ยว หรืออาหารบด ส่วนนมแม่ก็ยังแนะนำ ให้เลี้ยงลูกไปอย่างต่อเนื่องจนถึงอายุ 2 ขวบ หรือมากกว่า คือเลี้ยงนมแม่ไปพร้อมๆ กับอาหารปกติอื่นๆ ทางเลือกรองลงมา... ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แม้กระแสการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะมาแรงในแถบเอเชีย แต่ในความเป็นจริง ทารกแรกเกิดเพียงไม่ถึงครึ่ง ที่ได้มีโอกาสกินนมแม่จนถึงอายุ 4 เดือน และมากกว่าร้อยละ 80 ได้รับนมแม่จนถึงอายุ 12-15 เดือน ตัวมารดาเองอาจเป็นผู้ตัดสินใจว่า การเลี้ยงลูกด้วยนมตนเองอย่างเดียวนั้นเป็นไปได้ยาก ด้วยเหตุผลหลายประการ – สุขภาพของมารดาหรือทารก, ขาดความช่วยเหลือจากครอบครัว, การทำงาน หรือภาระอื่นบางอย่างที่อาจทำให้ไม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมตนเองทั้งหมด หรือแม้บางส่วนได้ ในกรณีเช่นนี้เป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งยวด ที่มารดาซึ่งมีความลำบากดังกล่าว ต้องไปขอความช่วยเหลือ ขอคำปรึกษา อาจเป็นจากพยาบาล ผู้มีความชำนาญเหล่านี้ อาจสามารถหาทาง ช่วยเหลือเพื่อให้ทารกได้มีโอกาสกินนมแม่ต่อไปได้ ศาสตราจารย์ฟาติมา อาชาด แห่งคณะโภชนาการและการกำหนดอาหาร มหาวิทยาลัยคีบังซาน ประเทศมาเลเซีย กล่าวว่า “วิธีการเลี้ยงลูกทั้งสองแบบไม่ว่าจะใช้นมผสม หรือนมแม่ก็ตาม ต้องมีการสอนให้พ่อแม่เข้าใจ แม้นว่า การเลี้ยงลูกด้วยนมมารดาจะเป็นกระบวนการตามธรรมชาติแต่ถ้า คุณแม่มือใหม่ได้รู้รายละเอียดวิธีการทุก ขั้นตอน เธอก็จะมีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น” สำหรับคนที่เลือกที่จะไม่เลี้ยงลูกด้วยนมตนเอง หรือใช้นมผสมมาช่วยด้วยนั้น คำถามก็คือว่า “แล้วจะใช้นมอะไรดีล่ะ” คำตอบก็คือ ถ้าไม่ใช่นมแม่ รองจากนมแม่ก็ต้องเป็นนมผงเลี้ยงทารกที่เป็นสูตรทางการค้า การที่เราจะผสมนมเพื่อเลี้ยงทารกเองนั้น เป็นสิ่งที่ไม่แนะนำเป็นอย่างยิ่ง เพราะความผิดพลาดเกิดขึ้นได้เสมอ ทั้งการเลือกชนิดและการผสม ซึ่งอาจก่อให้เกิดความไม่สมดุลย์ทางโภชนาการ อันอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพเด็กทารก นมผสมสูตรเลี้ยงทารก ทำมาจากนมวัวแต่จะถูกดัดแปลงแบบพิเศษ เพื่อให้ใกล้เคียงกับคุณสมบัติของนมแม่มากที่สุด การดัดแปลงนี้จะช่วยให้นมนั้นย่อยง่าย มีคุณค่าทางโภชนาการและปลอดภัยต่อการเลี้ยงทารก นมวัวหรือนมแพะที่ไม่มีการดัดแปลงรูป ไม่ควรนำมาเลี้ยงเด็กอายุต่ำกว่า 12 เดือนเป็นอันขาด เนื่องจากว่าโปรตีนในนมดังกล่าวนี้ย่อยยาก ยิ่งไปกว่านั้น นมวัวและนมแพะมีปริมาณธาตุเหล็กต่ำมาก และนมแพะยังขาดวิตามินบี 12, โฟเลต และวิตามินดี อีกด้วย การเลือกนมผสมสำหรับเลี้ยงทารกอย่างรอบคอบ ไม่ว่าคุณจะใช้นมผสมดัดแปลงสำหรับเลี้ยงทารกโดยสมบูรณ์แบบ หรือจะใช้แทนนมแม่เป็นบางมื้อก็ตาม นมที่คุณเลือกจะต้องเหมาะสมกับทารกน้อยๆ ของคุณ ถ้าจะสอบถามบุคคลากรทางการแพทย์ หรือพยาบาล ก็เป็นสิ่งที่น่ากระทำในเบื้องต้น นมผงสำหรับเลี้ยงทารก ที่ผลิตจากบริษัทที่น่าเชื่อถือได้ และถ้าจะให้ดีต้องมีรายละเอียดติดต่อกลับได้ด้วย หากเรามีข้อกังวล หรือปัญหา ผู้ผลิตที่มีชื่อเสียงนั้นจะเคร่งครัดทำตามกฎระเบียบของทางราชการ ทั้งนี้ เพื่อให้มั่นใจว่าผลิตภัณฑ์นมที่เขาผลิตนั้น มีคุณค่าทางโภชนาการอย่างพอเพียง และเป็นสูตรที่ปลอดภัย และพร้อมที่จะรับการสนองตอบจากลูกค้าอย่างแท้จริง นมผงสำหรับเลี้ยงทารกที่ทำจากนมวัว เป็นสูตรที่ดีที่สุดสำหรับทารกส่วนใหญ่ แต่อย่างไรก็ตาม จะมีทารกอยู่กลุ่มหนึ่งที่มีความต้องการนมสูตรพิเศษ ยกตัวอย่างเช่น มีทารกกลุ่มหนึ่งซึ่งมีจำนวนไม่มากนัก จะแพ้โปรตีนจากนมวัว หรืออาจจะไม่สามารถย่อยน้ำตาลแลคโตสในนมได้ เด็กทารกกลุ่มนี้ต้องเลี้ยงด้วยนมจากถั่วเหลือง หรือนมสูตรดัดแปลงพิเศษ ซึ่งเป็นนมจากวัวแต่มีการดัดแปลงจนเหมือนกับย่อยมาแล้ว อาการที่เป็นตัวบ่งชี้ปฏิกิริยาจากโปรตีนในนมวัว ได้แก่ อาเจียน ท้องเสีย ปวดท้อง เป็นผื่นคัน สำหรับคนที่ไม่สามารถย่อยนมได้ อาการที่พบบ่อย คือ มีแก๊สมาก ท้องป่อง ปวดท้อง และท้องเสีย แต่อย่างไรก็ตาม อย่ารีบด่วนสรุปว่าเป็นอาการแพ้นม เนื่องจากสิ่งเหล่านี้ อาจเป็นอาการป่วยอย่างอื่นในเด็กก็ได้ ดังนั้น จึงควรพบแพทย์เพื่อความมั่นใจ ทารกเกิดก่อนกำหนด หรือเด็กที่มีปัญหาเกี่ยวกับกระบวนการเผาผลาญในร่างกาย อย่างเช่น อาการเฟนิลคีโทนูเรีย (phenylketonuria) ซึ่งทำให้มีสารบางอย่างเป็นพิษตกค้างอยู่ในร่างกาย กุมารแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ จะต้องแนะนำนมผสมสูตรพิเศษโดยเฉพาะให้ การให้อาหารเสริมพิเศษ – ประโยชน์หรือเกินจริง? ฝ่ายผู้ผลิตยังคงพยายามอย่างต่อเนื่องในการผลิตนมผงสำหรับเลี้ยงทารกให้มีความคล้ายคลึงกับนมแม่มากที่สุด ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา งานวิจัยได้มุ่งเน้นการศึกษาเรื่องสารอาหารที่พบในนมแม่ในปริมาณน้อยมากๆ แต่ก็มีบทบาทสำคัญ ที่ทำให้นมแม่เป็นอาหารที่สมบูรณ์แบบที่สุดสำหรับทารก นมผสมบางสูตร มีการเสริมด้วยไขมันพิเศษ ซึ่งมีสูตรเคมีเป็นโซ่ยาว เป็นกรดไขมันที่เรียกว่า กรดโดโคซาเฮกซาโนอิค (docosahexanoic acid – DHA) และกรดอราชิโดนิค (arachidonic acid - ARA) เนื่องจากกรดทั้งสองตัวนี้พบในน้ำนมแม่ และพบว่าเป็นประโยชน์ช่วยพัฒนาระบบการมองเห็น และพัฒนาสมองของเด็กทารกได้ในช่วงระยะเวลาอันสั้น นอกจากนี้ยังมีนมผสมที่เป็นสูตร “probiotic และ prebiotic” ออกมาสู่ตลาดปรากฎว่ามีการศึกษาพบว่า นมประเภทนี้มีผลช่วยให้การเกิดโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กและการเกิดอาหารเป็นพิษและโรคท้องร่วงลดน้อยลง เมื่อเร็วๆ นี้เอง ที่กรุงเดลฮี ประเทศอินเดีย มีการศึกษาพบว่าทารกที่ได้รับนมผสมที่เสริมสารอาหาร จะมีภูมิคุ้มกันต่อโรคท้องร่วง การติดเชื้อทางเดินหายใจ โรคหัด และโรคโลหิตจาง ทั้งชนิดปานกลางและรุนแรง ดีกว่าทารกที่กินนมผงธรรมดา เมื่อทารกอายุได้ประมาณ 6 เดือน จะเป็นช่วงที่ร่างกายเริ่มเปลี่ยนแปลงความต้องการสารอาหาร ช่วงนี้จึงเริ่มเพิ่มอาหารแข็งเข้ามา นมยังคงเป็นส่วนประกอบสำคัญของอาหารอยู่เหมือนเดิม และยังคงแนะนำว่า ควรให้ทารกดูดนมแม่ต่อไป สำหรับเด็กที่ไม่ได้กินนมแม่นั้น เมื่อถึงอายุนี้ก็ต้องเปลี่ยนนมผสมเช่นกัน นมผสมสำหรับทารกวัยหลัง 6 เดือน จะมีแคลเซียมและธาตุเหล็กสูงขึ้น เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายที่กำลังเติบโต นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาอีกเป็นจำนวนมากที่รายงานว่า เด็กวัยเรียนที่ดื่มนมเสริมธาตุเหล็ก จะมีภาวะโภชนาการที่สมบูรณ์กว่า และมีพัฒนาการที่ดีกว่าเด็กที่ไม่ได้รับการเสริมธาตุเหล็ก สำหรับนมวัวธรรมชาตินั้น ควรจะให้กับเด็กที่มีอายุ ๑ขวบไปแล้ว นมพร่องมันเนย หรือนมสกัดมันเนยนั้นไม่แนะนำให้เลี้ยงเด็กอายุต่ำกว่า ๒ ขวบ เนื่องจากปริมาณของไขมันและพลังงานต่อเด็กทารกที่กำลังเจริญเติบโต ศาสตราจารย์ฟาติมา ได้สรุปไว้ว่า “ ไม่ว่าพ่อแม่จะเลือกวิธีการใดในการเลี้ยงลูกก็ตาม เขาสมควรที่จะได้รับความช่วยเหลือในทุกวิถีทาง คำแนะนำที่เหมาะสม, ข้อมูลที่ถูกต้อง และกำลังใจ จะสามารถช่วยให้มารดาเลือกวิธีการเลี้ยงลูกของตนเองได้เป็นอย่างดี การดูแลอย่างดีที่สุดจากพ่อแม่ ความรู้สึกพึงพอใจ และความผูกพันอันลึกซึ้งระหว่างแม่และลูก เป็นเป้าหมายหลักที่สำคัญ นมผสมสำหรับทารก- เตรียมอย่างเอาใจใส่ เด็กแรกเกิดแทบจะไม่มีกลไกป้องกันตนเองจากเชื้อโรคได้เลย และต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่งจึงจะสร้างภูมิต้านทานขึ้นมาได้ ดังนั้น การเตรียมนมผสม และการเก็บรักษาอย่างถูกสุขอนามัย จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อป้องกันการติดเชื้อในเด็ก
|
วันเสาร์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2554
เรื่องของนมสำหรับเด็กและทารก
เรื่องของนมสำหรับเด็กและทารกFFA Issue 24, July 2005, "Milk Matters for Babies and Toddlers"
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น