วันจันทร์ที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2553

พัฒนาการและการเลี้ยงดู เด็กปฐมวัย

พัฒนาการและการเลี้ยงดูเด็กปฐมวัย

เด็กปฐมวัยหมายถึง เด็กในช่วงแรกเกิดจนถึง 6 ปี ซึ่งถือว่าเป็นช่วงทองของชีวิต เนื่องจากเป็นระยะที่ระบบประสาทและสมองของเด็กเจริญเติบโตในอัตรสูงสุด การปลูกฝังและสร้างเสริมพันฒนาการทุกๆ ด้านให้แก่เด็กในวัยนี้ จึงย่อมได้ผลอย่างเต็มศักยภาพ มากกว่าการปลูกฝังและสร้างเสริมในช่วงวัยอื่นๆ
ดังนั้น การให้การอบรมเลี้ยงดูเด็กปฐมวัยอย่างเหมาะสมกับพัฒนาการของเด็กในแต่ละช่วงอายุ จึงมีความสำคัญอย่างมากเพราะจะเป็นรากฐานของการพัฒนาในวัยต่างๆ ต่อไปนั่นเอง
การเจริญเติบโตและพัฒนาการของเด็กวัย 1-2 ขวบ ด้านร่างกาย
อายุ 10-16 เดือน ฟันซี่ข้างด้านล่างขึ้น 2 ซี่
อายุ 13-19 เดือน ฟันกราม 4 ซี่ชุดแรกขึ้น
อายุ 16-23 เดือน ฟันเขี้ยว 4 ซี่ขึ้น
อายุ 23-31 เดือน ฟันกราม 4 ซี่ชุดที่สองขึ้น
การรับประทาน
ระบบการย่อยอาหารพัฒนาขึ้น คุณแม่เริ่มให้อาหารอย่างอื่นนอกจากนมได้แล้ว
อายุ 12 เดือน อัตราการเจริญเติบโตจะช้า ความอยากอาหารลดน้อยลง
การขับถ่าย
เด็กยังควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะอุจจาระได้ไม่ดีนัก ช่วงอายุ 1 ขวบ คุณแม่อย่าเพิ่งฝึกหัดการขับถ่ายโดยการนั่งกระโถน แม้ว่าเขาจะเรียนรู้การนั่งได้แล้วก็ตาม ควรหัดในช่วง 18 เดือนถึง 2 ขวบ
การนอน
ช่วงนอนหลับตอนกลางวันจะเริ่มสั้นลงและตื่นอยู่ได้นานขึ้น โดยการนอนหลับในเวลากลางวันนั้น คุณแม่ไม่จำเป็นต้องคาดหวังให้ลูกนอนนานๆ ถ้าลูกของคุณนอนได้วันละ 2 ครั้ง และหลับนานครั้งละประมาณ 20-30 นาที ก็ถือว่าเพียงพอต่อความต้องการของเด็กแล้ว และไม่ควรกักขังเด็กอยู่ในเปลเพื่อจะบังคับให้เขาหลับ แต่ควรจะปล่อยเด็กออกมาเล่น หรือออกกำลังกายข้างนอกจะดีกว่า
ความสามารถในการฟังและการออกเสียง
เด็กอายุ 1 ขวบ เริ่มรู้จักชื่อของตัวเองแล้ว เมื่อถูกเรียกชื่อก็จะหันมองตามเสียงเรียก และสามารถเข้าใจคำพูดสั้นง่ายๆ ที่เป็นคำสั่งประกอบท่าทาง เช่น สั่งให้นอนพร้อมกับตบหมอนประกอบ เด็กก็จะนอนตามคำสั่งได้
ส่วนการออกเสียงนั้น เมื่อเด็กอารมณ์ดีก็จะคุยจ้อด้วยเสียงดัง แต่ยังไม่เป็นคำพูด ฟังไม่เข้าใจ แต่แม่หรือคนเลี้ยงที่คุ้นเคยกับเด็กซึ่งอาจจะเกิดความเข้าใจ
พัฒนาการของกลไกต่างๆ ของร่างกาย
เมื่ออายุ 1 ขวบครึ่ง เด็กจะคุกเข่าหรือนั่งชันเข่าได้โดยไม่ต้องใช้มือค้ำหรือเดินด้วยเข่า โดยใช้มือจับราวหรือกล่องใหญ่ได้โดยไม่ล้ม และจะชอบเล่นของที่ผลัก หรือดึงให้เคลื่อนที่ได้
ในช่วงนี้เด็กเริ่มเดินได้คล่อง สามารถหยุดเดินหรือก้าวเดินต่อได้ดังใจ การก้าวเท้าสัมพันธ์กับการแกว่งแขน เด็กไม่จำเป็นต้องเดินเตาะแตะรักษาสมดุบของร่างกายอีกต่อไป
พัฒนาการของสายตาและการใช้มือ
เด็กสามารถจำคนคุ้นเคยได้ในระยะ 6 เมตร ถ้ามีสิ่งเคลื่อนไหวอยู่ในระยะประตูห้อง เด็กจะจ้องดู และเริ่มดูรูปภาพโดยใช้ความสังเกต
เมื่ออายุ 1 ขวบครึ่ง จะรู้จักชี้ชวนให้มองของที่สะดุดตาในระยะห่างพอสมควร
เด็กสามารถใช้มือถือช้อนได้แต่ยังป้อนใส่ปากไม่เป็น สามารถจับถ้วยได้ด้วยตนเอง รู้จักถือของชิ้นเล็กๆ ได้โดยใช้นิ้วหัวแม่มือกับปลายนิ้วชี้ จับของสองสิ่งกระแทกกันได้ และหัดใช้มือทำงานทีละข้าง
อย่างไรก็ตามเด็กวัยนี้ยังไม่สามารถบังคับกล้ามเนื้อส่วนข้อมือได้ดังนั้นเวลาจับของ หรือใช้มือเด็กจะเคลื่อนไหวตลอดทั้งลำแขน
ช่วงอายุ 2 ขวบ จะเป็นระยะที่บอกได้ว่า เด็กถนัดใช้มือซ้ายหรือมือขวา
พัฒนาการทางการเล่นและพัฒนาการทางสังคม
เด็กวัย 1 ขวบ ชอบของเล่นที่มีเสียงเป็นพิเศษ แต่อาจจะสนใจไม่นานแล้วก็โยนทิ้ง และชอบเลียนแบบผู้ใหญ่ เช่น หยิบโน่นใส่นี่เลียนแบบการทำงานของผู้ใหญ่ เทของออกจากภาชนะได้สามารถหาของจากที่ซ่อนพบ ชอบเล่นตบน้ำเพื่อให้เกิดเสียงดังแปะๆ โบกมือบ๊ายบายได้
ส่วนพัฒนาการทางสังคมนั้นเมื่อพบคนคุ้นหน้าเด็กจะแสดงอาการให้รู้ว่ารู้จัก เช่น ยิ้มเต็มที่จนถึงหัวเราะเอี๊กอ๊าก หรือร้องเอ๋แสดงการทักทาย
อายุ 1 ขวบครึ่ง ชอบเล่นหย่อนของลงกล่องแล้วเทอออก แล้วหย่อนลงไปใหม่กลับไปกลับมา และเมื่อมีของเล่นวางกองไว้บนพื้นบ้านเด็กจะเล่นได้ตามลำพังเป็นเวลานานพอสมควร
ครั้นพออายุ 2 ขวบ เด็กจะเรียกร้องความสนใจจากแม่บ่อยขึ้น ถือเป็นระยะติดแม่ และรู้จักดื้อและแสดงอาการฉุนเฉียวเมื่อมีความรู้สึกไม่พอใจ
อายุ 1 ขวบ 3 เดือน ฉีดวัคซีนป้องกันหัดได้ หัดเยอรมัน และคางทูม
อายุ 1 ขวบ 6 เดือน ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ (HIB) โปลิโอและคอตีบ
อายุ 2 ขวบ ฉีดป้องกันไทฟอยด์ 2 ครั้งเท่ากัน 4 อาทิตย์
บทบาทของบิดามารดาและพี่เลี้ยง
พ่อแม่ควรสนับสนุนให้เด็กวัยนี้ได้เคลื่อนไหวและสนองความอยากรู้อยากเห็นอยู่เสมอ โดยจัดสภาพแวดล้อมที่เปิดโอกาสให้ลูกได้สำรวจค้นหาได้ตามต้องการอย่างปลอดภัย หรืออาจพาไปเล่นกับเด็กคนอื่นๆ โดยคอยดูแลอย่างใกล้ชิด
พร้อมกับร่วมเล่นกับลูกเพื่อสร้างเสริมประสบการณ์ ความกระตือรือร้นและความสนุกสนานเพลิดเพลิน และหมั่นคุยกับลูกเพื่อช่วยพัฒนาการใช้ภาษาของลูก
ให้เด็กมีโอกาสได้คุ้นเคยกับบุคคลอื่นๆ ที่ใกล้ชิดในครอบครัว เช่น ญาติผู้ใหญ่
พยายามไม่ถ่ายทอดความกลัวของตนให้เด็ก (เช่น แมลงสาบ จิ้งจก แมงมุมหรืออื่นๆ) เพราะเด็กจะกลัวตามคุณพ่อคุณแม่และพี่เลี้ยงโดยอัตโนมัติ
และที่สำคัญต้องอดทนกับพฤติกรรมในขั้นปฏิเสธของเด็ก เช่น เดียวอารมณ์ดี เดี๋ยวอารมณ์ไม่ดี ไม่ยอมทำตามที่ผู้ใหญ่บอกและร้องไห้เกเร เพราะล้วนเป็นสัญลักษณ์ของพัฒนาการ ที่เป็นไปตามปกติของเด็กวัย 1-2 ขวบ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น